Journal Article
โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (MITRAL REGURGITATION)
โรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว (Mitral regurgitation: MR) คือภาวะที่ลิ้นหัวใจไมตรัลปิดไม่สนิท ทำให้เลือดไหลย้อนกลับไปยังหัวใจห้องบนซ้าย ทำให้หัวใจห้องบนซ้ายได้รับเลือดมากกว่าปกติ และเกิดการคั่งของเลือดในระบบหัวใจ ฉะนั้นเลือดจากปอดที่ฟอกแล้วจะกลับเข้าสู่หัวใจได้ไม่เต็มที่ จึงทำให้เกิดการคั่งของเลือดในปอด ทำให้ปอดเต็มไปด้วยของเหลว มีผลทำให้ความดันในปอดสูงขึ้น จนเกิดภาวะน้ำท่วมปอด และอาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมา
สาเหตุของลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว
อาจเป็นผลมาจากความผิดปกติแต่กำเนิดหรือภาวะหัวใจวายจากกล้ามเนื้อหัวใจตายเพราะเลือดไม่พอ หรือการเสื่อมสภาพของลิ้นหัวใจตามอายุขัย สาเหตุอื่นๆ ได้แก่การติดเชื้อ เช่น ไข้รูมาติก (การอักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรียสเตรปโทคอคคัส มักทำให้เกิดอาการคออักเสบ) สภาวะโรคของเซลล์ผิดปกติมาแทรกในลิ้นหัวใจ เช่น โรคลูปัสที่เกิดจากภูมิแพ้ตัวเองสู่ลิ้นหัวใจ และโรคที่สืบทอดทางกรรมพันธุ์ เช่น กลุ่มอาการ Marfan syndrome หรือผู้ป่วยที่มีภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก็ทำให้หัวใจไมตรัลรั่วได้เช่นกัน
อาการเตือนโรคลิ้นหัวใจรั่ว
- เหนื่อย อ่อนเพลีย
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น เต้นเร็วไม่สม่ำเสมอ
- อาการไอแห้งๆ
- หายใจลำบากขณะทำกิจกรรมหรือนอนราบ
- หน้ามืด เป็นลม
- ข้อเท้าหรือเท้าบวม
ทางเลือกในการรักษาโรคลิ้นหัวใจรั่ว
การรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ซึ่งมาจากผลการวินิจฉัยโรคเพิ่มเติมและไลฟ์สไตล์ของคุณ แพทย์และทีมโรคหัวใจจะแนะนำตัวเลือกการรักษาที่ดีที่สุด
การรักษาด้วยยา
มียาหลายชนิดที่อาจช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากภาวะลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ซึ่งแพทย์ผู้ทำการรักษาจะทำการตรวจวินิจฉัย เพื่อให้ยาตามความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคน
TRANSCATHETER EDGE-TO-EDGE REPAIR (TEER) การซ่อมลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วผ่านสายสวนด้วย MitraClip
เป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการและอาการแสดงจากการรั่วของลิ้นไมตรัลชนิดรุนแรงที่ไม่สามารถทำผ่าตัดหัวใจแบบเปิดได้ หรือในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจเกิดอันตรายจากการผ่าตัด เช่น ผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ที่มีโรคร่วมหลายโรค เป็นต้น การรักษาด้วยวิธีนี้ช่วยลดอัตราเสี่ยงการเสียชีวิต ทำให้ภาวะสุขภาพโดยรวมและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
การผ่าตัดหัวใจโดยการเปิดกระดูกหน้าอก
ถ้าหากไม่สามารถซ่อมแซมลิ้นหัวใจไมตรัลได้ แพทย์อาจจะแนะนารรักษาโดยการผ่าตัดเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจเป็นลิ้นหัวใจเทียม (prosthetic valve) ซึ่งประเภทของลิ้นหัวใจที่ใช้ในการผ่าตัด มี 2 ประเภท คือ ลิ้นหัวใจเทียมชนิดโลหะ (Mechanical Valve) และ ลิ้นหัวใจเทียมชนิดเนื้อเยื่อ (Bioprosthesis Tissue Valve) การเลือกประเภทของลิ้นหัวใจนั้นขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ตามความเหมาะสมของคนไข้
การรักษาด้วย MITRACLIP™ เป็นอย่างไร?
เครื่องมือใหม่ที่ใช้ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจไมตรัลรั่ว ที่เรียกว่า ไมตรัลคลิป (MitraClip) เป็นวิธีการรักษาลิ้นหัวใจไมตรัลรั่วด้วยการใส่ไมตรัลคลิปเข้าไปทางหลอดเลือดดำที่ขาหนีบผ่านหัวใจห้องขวาและเข้าไปในหัวใจห้องซ้าย เพื่อไมตรัลคลิปลิ้นหัวใจไมตรัลในห้องซ้าย ไมตรัลคลิปเป็นตัวหนีบจับบริเวณของลิ้นหัวใจที่มีรอยรั่วเข้าด้วยกัน ทำให้ลิ้นหัวใจสามารถปิดสนิทมากขึ้น ซึ่งมีข้อดีคือสามารถคงโครงสร้างของลิ้นหัวใจเดิมไว้ได้ทำให้การทำงานของหัวใจด้านล่างซ้ายดีกว่า ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อของลิ้นหัวใจและการเกิดลิ่มเลือดจากลิ้นหัวใจน้อยกว่า และผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด การรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดความเสี่ยงจากการผ่าตัดหัวใจ ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ระยะเวลาในการักษาตัวในโรงพยาบาลและการพักฟื้นหลังการรักษาน้อยกว่า
การวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจรั่วมีอะไรบ้าง?
- แพทย์ตรวจฟังเสียงการเต้นของหัวใจด้วยหูฟังสเต็ทโตสโคป (Stethoscope)
- การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram / Transthoracic echocardiogram)
- การเอกซเรย์ปอด หรือ Chest X-ray
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ Electrocardiogram (ECG/EKG)
การรักษาด้วย MITRACLIP™ มีขั้นตอนอย่างไร
การรักษาของคนไข้แต่ล่ะคนอาจแตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์ที่ทำการรักษาจะอธิบายขั้นตอนให้คนไข้ทราบและแจ้งรายละเอียดเฉพาะแก่ผู้ป่วยและญาติ รวมถึงตอบคำถามใดๆ ที่ผู้ป่วยและญาติสงสัย
แพทย์ใส่สายสวนและอุปกรณ์ไมตรัลคลิปผ่านทางเส้นเลือดดำขาหนีบไปถึงหัวใจห้องบนขวาและเข้าไปในหัวใจห้องล่างซ้าย
แพทย์จะพิจารณาเจาะผนังกั้นหัวใจด้านบน เพื่อส่งไมตรัลคลิปเข้าไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม ภายใต้การถ่ายภาพทางรังสีหรือเครื่องเอกซเรย์ (fluoroscopy equipment) นำทางเพื่อส่งไมตรัลคลิปเข้าไปตำแหน่งที่เหมาะสม
แพทย์วางไมตรัลคลิปที่ลิ้นหัวใจในตำแหน่งที่เหมาะสมและเช็คการทำงานของไมตรัลคลิปก่อนหนีบไมตรัลคลิป
เมื่อไมตรัลคลิปหนีบลิ้นหัวใจในตำแหน่งที่เหมาะสมแล้ว แพทย์จะทำการปล่อยตัวไมตรัลคลิปแยกออกจากท่อส่งไมตรัลคลิป จากนั้นจะนำอุปกรณ์ออกและปิดแผล
“ไมตรัลคลิป” ที่หนีบลิ้นหัวใจจะทำงานเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจ เมื่อลิ้นหัวใจไมทรัลปิดสนิท การไหลเวียนเลือดในหัวใจก็ดีขึ้น
